ประเด็นร้อน

ความเสี่ยงสามด้านของสังคม เมื่อครู-ศิษย์ ‘เบี้ยวหนี้’

โดย ACT โพสเมื่อ Aug 01,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก บางกอกอินไซท์ - -


คอลัมน์ จุดตัดความคิด :  โดย จิตติศักดิ์ นันทพานิช


ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เหตุการณ์ครู ศิษย์ เบี้ยวหนี้ เป็นข่าวใหญ่ ที่สื่อทุกสำนัก และทุกประเภทตามติด อย่างใกล้ชิด 


ข่าวแรก ครูวิภา บุญเย็น ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งที่กำแพงเพชร ถูกหมายศาลบังคับคดีจะยึดบ้าน ยึดที่ดิน เนื่องลูกศิษย์ 21 คน(จาก 60 คน) ที่ครูเซ็นค้ำประกันให้ กู้กยศ. (กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) เมื่อ 20 ปีก่อนไม่ยอมใช้หนี้ 


ข่าวระบุว่าครูยอมใช้หนี้แทนไปแล้ว 4 คนวงเงิน 92,000 บาท ก่อนได้รับหมายศาลหลังลูกศิษย์ที่ครูค้ำประกันอีก 4 คนถูกกยศ.ฟ้อง แต่ไม่มีทรัพย์ให้ยึด กยศ.จึงเบนเป้ามายึดทรัพย์ผู้ค้ำประกัน หรือครูวิภาแทน


ชะตากรรมครูวิภาสะเทือนใจสังคมมาก เพราะครูที่มีเมตตากับศิษย์ขนาดนี้สมควรได้รับการเชิดชูไม่ใช่หมายศาล เมื่อข่าวกระจายออกไปในวงกว้าง ทาง กยศ.ประกาศชะลอการบังคับคดีออกไป ลูกศิษย์ขี้ลืมบางคนเริ่มจำความได้บ้าง และแจ้งความจำนงกับครูว่าจะดูแลหนี้ที่ก่อเอง หลังเพจดังนำรายชื่อมาโพสต์ เปิดหน้าให้โลกได้รู้จัก


อีกกรณี ครูในเรื่องนี้ต่างจากครูในเรื่องแรกอย่างสิ้นเชิง จู่ๆ มีกลุ่มครูราว 100 คน ส่วนใหญ่เกษียณแล้วรวมตัวกันออกมาประกาศ ปฏิญญามหาสารคาม ว่า จะหยุดชำระหนี้แบงก์ออมสิน หรือภาษาชาวบ้านคือ ประกาศชักดาบ โดยให้เหตุผลหลายข้อ หนึ่งในนั้นคือ ดอกเบี้ยแพง (6-6.5%) 


ข่าวนี้แม้แต่ครูด้วยกันยังอึ้ง เพราะเป็นหนี้ต้องจ่ายคือหลักการที่ยอมรับกัน มีเสียงตำหนิกึ่งๆ สั่งสอนคณะครูร้อยคนมาจากรอบทิศ เพราะสังคมยอมรับไม่ได้ที่แม่พิมพ์ของชาติคณะนี้เลือกแก้ปัญหาหนี้ของตัวเองด้วยแนวทางนี้


กรณี ครูวิภา กับ ครูร้อยคน สะท้อนให้เห็นภาพสองด้าน


ด้านหนึ่งสังคมกำลังสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสีย 3 สิ่งสำคัญ คือ ความไว้วางใจ เชื่อใจ และ มีน้ำใจ ซึ่งเป็นรากฐานของสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกรณีครูวิภา หากปล่อยให้คุณครูวิภารับมือกับชะตากรรมตามลำพัง ต่อไปคงไม่มีครูคนไหนกล้าเซ็นค้ำประกันให้ลูกศิษย์อีก เพราะชะตากรรมที่เกิดกับครูวิภาเป็นประจักษ์อยู่ 


ครู หรือ คนอื่นๆ คงยอมถูกประณามว่าใจดำปฏิเสธการเซ็นค้ำให้ลูกหลาน ดีกว่ารับหมายศาลหน้าบ้าน และความรู้สึกทำนองนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนผู้คนไปสู่สังคมตัวใครตัวมัน ไม่มีใครไว้วางใจ เชื่อใจ หรือมีน้ำใจ ให้ใครอีกต่อไป 


นอกจากนี้ กรณีครู 2 เรื่องข้างต้น ยังสะท้อนภาพส่วนหนึ่งของปัญหาหนี้ครัวเรือนอีกด้วย


หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลทุ่มเทกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมาก มีทั้งแผนและนโยบายออกมาเป็นระยะๆ การสะสางปัญหาหนี้นอกระบบ ถูกยกให้อยู่ในวาระลำดับต้นๆของรัฐบาล มีการตั้งคลินิกแก้หนี้ ผลักดันร่างกฎหมาย คุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรหรือที่อยู่อาศัย หรือเตรียมออกกฎกระทรวง ให้ใช้ไม้เศรษฐกิจ 58 ชนิด เป็นหลักประกันเงินกู้เป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนทางหนึ่ง 


แม้ครบทั้งนโยบายและการปฏิบัติ แต่แนวรบหนี้ครัวเรือนยังไม่เปลี่ยนแปลง


สัปดาห์ที่หนี้ครูเป็นข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับในรายการศาสตร์พระราชาสู่ความยั่งยืนว่า ความสามารถในการชำระหนี้ของพี่น้องประชาชนไม่กระเตื้องขึ้นมากนัก เพราะสัดส่วนหนี้เสียยังไม่ปรับลดลง 


พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่าสามเดือนแรกปีนี้ (2561) หนี้ครัวเรือนยังทรงตัว สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 77.6 % (ปลายปีที่แล้ว 78 % ต่อจีดีพี) “….ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ” นายกฯ ย้ำ


แบงก์ชาติแจงที่มาปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นระยะๆ เช่นกันว่าเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจโตไม่ทั่วถึง ในทางกลับกันก็บอกว่า ครัวเรือนมีภาระหนี้มากต้องนำ รายได้ไปชำระหนี้ ส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศไม่ขยับตัวมากนัก ซึ่งผูกโยงไปถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจในที่สุด 


สรุป คือภาพเศรษฐกิจที่ตัวเลขจีดีพีโตสุดในรอบ 4 ปีแต่เสียงบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดียังดังอยู่ เพราะสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์สูงเหนี่ยวรั้งการเคลื่อนตัวของเศรษฐกิจเอาไว้


ส่วนเรื่องศิษย์เบี้ยวหนี้ครู และครูเกษียณร้อยคนประกาศฝ่ายเดียวว่า จะหยุดชำระหนี้แบงก์ เป็นผลข้างเคียงจากปัญหาหนี้สาธารณะอย่างหนึ่ง ที่แสดงตัวออกมา ปนๆ ไปกับสภาวะหลงลืมของคนกลุ่มหนึ่งว่า เป็นหนี้ต้องใช้

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw